ความเป็นมาของ กิจกรรม “ปลูกข้าวแบ่งปันเพื่อน” สืบสานแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

 

          เจนบรรเจิด น้อมสืบสานพระราชปณิธานงานในหลวง รัชกาลที่ 9 จัดกิจกรรม “ปลูกข้าวแบ่งปันเพื่อน” ทำนาโยนในแปลงนา ณ ศูนย์กระจายสินค้าเจนบรรเจิด อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา

 

ข้าวกับวิถีชีวิตคนไทย

          “ข้าว” คือรากเหง้าของขนบธรรมเนียมประเพณีที่เชื่อมโยงเราไว้กับชุมชนและความเป็นชาติ วิถีของข้าวเป็นตัวกำหนดวิถีของสังคม โดยวัฏจักรของข้าวจะสอดคล้องกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับวิถีชีวิต

          วิถีชีวิตคนไทย นับตั้งแต่อดีตเราปลูกข้าวเพื่อบริโภคเป็นหลัก วิธีการทำนาจึงเป็นวิธีการที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติ ความรู้ก็เกิดจากประสบการณ์ที่สั่งสมกันมาเป็นมรดกตกทอด มีการใช้แรงงานสัตว์ เก็บเกี่ยวนวดด้วยเครื่องมือพื้นบ้าน ใช้มูลสัตว์เป็นปุ๋ย กำจัดศัตรูพืชและวัชพืชโดยการถอนหรือใช้สมุนไพร ใช้คราด ไถ มีด พร้า จอบ เคียว เป็นเครื่องมือ หากเหลือเก็บในยุ้งฉางก็จะนำไปแลกเปลี่ยนกับปัจจัยอื่นๆ เช่น เสื้อผ้า ยารักษาโรค หรืออาหารประเภทอื่นๆ แต่ไม่นิยมนำข้าวมาขาย เพราะคนไทยมีความเชื่อว่าเป็นธัญพืชศักดิ์สิทธิ์ซึ่งมีเทพธิดาอารักษ์ คือ “แม่โพสพ” ข้าวจึงเป็นอาหารสำหรับบริโภคเท่านั้น ไม่ใช่พืชเศรษฐกิจ

          อย่างไรก็ตาม เมื่อวัฒนธรรมจากหลากหลายประเทศได้เข้ามา และเทคโนโลยีก็เข้ามามีบทบาทอย่างมากในการปลูกข้าวเพื่อค้าขาย อีกทั้งแนวคิดหลักของการปลูกข้าวได้เปลี่ยนไป ทำให้วิธีการเปลี่ยนไปด้วย โดยการใช้เครื่องจักรกลเตรียมดิน ใช้ปุ๋ยเคมีบำรุงต้นกล้า ใช้สารเคมีและเครื่องจักรในการกำจัดศัตรูพืชและวัชพืช ปลูกข้าวพันธุ์ผสม ทดน้ำด้วยระบบชลประทานสมัยใหม่ แน่นอนว่าแต่ละวิธีการย่อมต้องมีทั้งข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป หากแต่สิ่งสำคัญที่สุดที่เทคโนโลยีไม่สามารถสร้างสรรค์ขึ้นได้ก็คือ จิตวิญญาณของคนที่มีต่อข้าวนั่นเอง

 

วิถีชีวิตชาวนา

          "ทำนา” เป็นอาชีพดั้งเดิมของคนไทย ที่สืบทอดมายังอนุชนรุ่นหลัง โดยส่วนใหญ่แล้ว ชาวนาจะใช้ชีวิตอยู่โดยเงียบสงบอยู่ในชนบท

          ในอดีตเมื่อ  30 ปีที่แล้ว  คำขวัญที่ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” นั้นเป็นความจริง เพราะในชนบทเกือบทุกครัวเรือนจะทำนามียุ้งข้าวและอุปกรณ์การทำนาที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน  เลี้ยงควายไว้ใช้ไถนาและบางครั้งก็ช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวนาได้ด้วย

          ครอบครัวชาวนาจะอยู่กันอย่างพี่น้อง เกิดการเอื้ออาทรระหว่างเพื่อนบ้านกัน มีความสามัคคีกันในชุมชน มีการใช้ปุ๋ยคอกที่เป็นผลพลอยได้จากสัตวที่เลี้ยง  ทำให้เกิดห่วงโซ่อาหาร การใช้ปุ๋ยคอกจะทำให้เกิดความสมดุลในระบบนิเวศน์ ข้าวกล้าในนาเจริญเติบโตดีโดยไม่ต้องใส่ปุ๋ยเคมี ใครมีที่นามากก็จะจ้างแรงงานมาช่วยซึ่งมีอยู่มาก หรือมีการลงแขกทำนาเอาแรงกัน ส่งผลให้ต้นทุนการทำนาส่วนใหญ่ในสมัยนี้จึงเป็นต้นทุนด้านค่าแรงงานเป็นส่วนใหญ่ ต้นทุนค่าปุ๋ย สารเคมีไม่ต้องจ่าย จึงไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อใช้ในการทำนา

          ดังนั้นการทำการเกษตรในปัจจุบัน  ถ้าทุกคนใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมและคำนึงถึงระบบนิเวศน์โดยการทำการเกษตรสมัยใหม่ร่วมกับการทำเกษตรแบบดั้งเดิม  ก็จะเป็นการคืนธรรมชาติให้กับแผ่นดินเมื่อนั้น

 

เศรษฐกิจพอเพียงกับชาวนา

          เมื่อพูดถึงอาชีพเกษตรกรรมในประเทศไทย คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงอาชีพชาวนา ชาวนาในประเทศไทยนับว่าเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุด เนื่องจากข้าวเป็นอาหารหลักของคนไทย และอาชีพชาวนายังเป็นอาชีพดั้งเดิมของคนไทยที่สืบทอดมายังอนุชนรุ่นหลัง โดยส่วนใหญ่แล้วชาวนาจะใช้ชีวิตอยู่โดยสงบเงียบในชนบท  มีความเป็นอยู่แบบเศรษฐกิจพอเพียง คือ สามารถพึ่งตนเองได้ สามารถผลิตข้าวไว้บริโภคเองได้ ไม่จำเป็นต้องไปซื้อ ประหยัดรายจ่ายภายในครอบครัว มีความ "พออยู่พอกิน" และมีความอิสระที่จะอยู่ได้โดยไม่ต้องยึดติดอยู่กับเทคโนโลยีและความเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกาภิวัฒน์

 

เจนบรรเจิดจัดกิจกรรม “ปลูกข้าวแบ่งปันเพื่อน” สืบสานแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

          กิจกรรม “ปลูกข้าวแบ่งปันเพื่อน” เริ่มขึ้นตั้งแต่วันศุกร์ที่ 13 ตุลาคม 2560  จัดขึ้นเพื่อให้พนักงานเจนบรรเจิดได้มีส่วนร่วม และเรียนรู้วิธีการปลูกข้าวตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยวิธีการทำนาโยน ณ บริเวณแปลงนา เนื้อที่ 2 ไร่ ภายในศูนย์กระจายสินค้าเจนบรรเจิด อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา และพันธุ์ข้าวที่ปลูกในครั้งนี้ คือ ข้าวพันธุ์ทับทิมชุมแพ ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวลูกผสมระหว่างข้าวเจ้าพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 กลายพันธุ์จากรังสี ทรงต้นเตี้ย (Semi-dwarf KDML105) ที่มีลักษณะต้านทานต่อโรคไหม้ ไม่ไวต่อแสง เป็นพันธุ์แม่ กับข้าวเจ้าพันธุ์สังข์หยด ซึ่งมีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง ไวต่อช่วงแสง ต้นสูง เป็นพันธุ์พ่อ จนได้ข้าวพันธุ์ทับทิมชุมแพ ที่เป็นข้าวเจ้าที่มีลักษณะพิเศษ ไม่ไวต่อแสง ทรงต้นแบบใหม่ สีเหมือนข้าวกล้อง เมื่อนำมาหุงสุกจะมีสีแดงใสคล้ายทับทิม อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ และธาตุเหล็ก ซึ่งเป็นประโยชน์ในการบำรุงโลหิต บำรุงร่างกายให้แข็งแรง ป้องกันโรคความจำเสื่อม และยังช่วยลดอัตราเสี่ยงการเป็นมะเร็ง

          ทั้งนี้ ในวันเสาร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2561 จะมีกิจกรรมเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวดังกล่าว โดยส่วนหนึ่งของข้าวที่ได้ บริษัทฯ จะแจกให้พนักงาน และเก็บไว้เป็นเมล็ดพันธุ์สำหรับการปลูกครั้งต่อๆ ไป และอีกส่วนจะมอบให้แก่ลูกค้ารายสำคัญและชุมชนใกล้เคียงศูนย์กระจายสินค้าเจนบรรเจิด