นักลงทุนสนใจลงทุนใน EEC เพิ่มมากขึ้น หลังรัฐส่งสัญญาณพัฒนาต่อยอดชัดเจน
- หมวด: Economy
- เผยแพร่เมื่อ: วันพุธ, 13 September 2560 09:03
- เขียนโดย Business Development
- ฮิต: 13
วันศุกร์ที่ 26 พฤษภาคม 2560
นักลงทุนสนใจลงทุนใน EEC เพิ่มมากขึ้น หลังรัฐส่งสัญญาณพัฒนาต่อยอดชัดเจน บีโอไอเชื่อปีนี้มีผู้ขอรับการส่งเสริมการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย กว่า 1.9 แสนล้านบาท มั่นใจ 3 ท่าเรือ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารฯ อีอีซี ครั้งที่ 3/2560 ณ ห้องประชุม 1 กระทรวงอุตสาหกรรม
วันนี้ (26 พฤษภาคม 2560) นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารฯ อีอีซี ครั้งที่ 3/2560 โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ผู้แทนเหล่าทัพ และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 1 กระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีเรื่องที่เข้าสู่การประชุมหลักๆ 2 เรื่องสำคัญ คือ การลงทุนใน 3 ท่าเรือหลัก และการเชื่อมโยงโดยระบบรถไฟรางคู่แบบไร้รอยต่อ และหลักเกณฑ์วิธีการดำเนินงานของสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) นอกจากนี้ ยังมีการติดตามความคืบหน้าในเรื่องของการจัดทำแผนการพัฒนาพื้นที่อีอีซี เขตส่งเสริมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก : เมืองการบินภาคตะวันออก โครงการ PPP ในพื้นที่ EEC ความก้าวหน้าการชักจูงนักลงทุนรายสำคัญในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และความคืบหน้าโครงการต่างๆ ใน EEC
ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ว่า เป็นการรายงานความก้าวหน้าต่อที่ประชุมถึงการพัฒนาในระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยในการพัฒนาพื้นที่อีอีซี โดยเฉพาะระบบรถไฟรางคู่ที่สามารถเชื่อมโยงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกเข้าด้วยกัน นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการรายงานความก้าวหน้าในเรื่องของการลงทุนที่ทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ จะเป็นผู้ดูแลสิทธิประโยชน์ของการลงทุน ขณะเดียวกัน ในที่ประชุมยังรับทราบถึงการเตรียมลงพื้นที่ของอีอีซี เพื่อทำความเข้าใจร่วมกัน ทั้งในส่วนประชาชน NGO และสื่อมวลชนในพื้นที่ โดยคาดว่าจะเริ่มลงพื้นที่ในสัปดาห์หน้า นอกจากนี้ คาดว่าในวันที่ 16 มิถุนายน 2560 จะเรียนเชิญพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เป็นประธานการประชุมที่ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เพื่อติดตามความคืบหน้าในประเด็นดังกล่าว
ด้านนายวีระพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ. เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพัฒนาใน 3 ท่าเรือหลัก คือ ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 ท่าเรือสัตหีบ ระยะที่ 3 ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ในปี 2561 และจะสามารถทยอยเปิดให้บริการได้ตามแผนงานที่วางไว้คือประมาณปี 2566 หรืออย่างเร็วที่สุดก็คือปี 2565
ส่วนในเรื่องของการจัดเตรียมพื้นที่ให้กับ SMEs ในพื้นที่ของอีอีซี นั้น ผู้ว่า กนอ.กล่าวว่า ประการแรกทางการนิคมอุตสาหกรรมได้มีการจัดโซนเป็น SMEs แล้ว โดยมีการร่วมมือกับผู้พัฒนานิคมให้มีการจัดเตรียมพื้นที่ดังกล่าว ประการที่ 2 สำหรับกลุ่มที่เราเรียกว่า Start Up ได้รับนโยบายไปแล้วว่าจะจัดพื้นที่ EEC for SMEs โดยจะนำร่องที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังก่อน ใช้พื้นที่อีอีซี ประมาณ 400 ตารางเมตร ตั้งอยู่ริมถนนสุขุมวิท โดยตั้งเป้าว่าสามารถเปิดได้ประมาณกลางเดือนมิถุนายนนี้ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะให้การสนับสนุนทั้งในด้านของการให้ความรู้ และเครื่องมือต่างๆ
นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า นักลงทุนมีความสนใจที่จะลงทุนในพื้นที่อีอีซีมากขึ้น เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมในด้านสาธารณูปโภคในระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันก็มีสัญญาณที่ชัดเจนจากทางรัฐบาลในการพัฒนาต่อยอดในอุตสาหกรรมเป้าหมาย จึงทำให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจในการลงทุนมากขึ้น โดยในช่วงปี 2558-2559 มีนักลงทุนสนใจยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่านโครงการต่างๆในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง รวมแล้ว 2.87 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 36 ของโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ และเป็นอุตสาหกรรมที่ยู่ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาลประมาณ 1.97 แสนล้านบาท และร้อยละ 70 เป็นการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการสนับสนุนการลงทุนให้เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการพัฒนาที่เกิดขึ้นในทุกด้านในพื้นที่อีอีซีทั้งในเรื่องของท่าเรือ ท่าอากาศยาน รถไฟรางคู่ ทำให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสแรกปี 2560 มีการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 1.6 หมื่นล้านบาท คาดว่าเมื่อแผนการพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานมีความชัดเจน และ พ.ร.บ.อีอีซี ประกาศใช้ จำนวนนักลงทุนเป้าหมายจะเพิ่มขึ้นโดยปีนี้ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะมีการยื่นขอรับส่งเสริมฯในอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี 1.5 แสนล้านบาท