
ด้วยความหลากหลาย ทำให้บูมทั่วโลก
ถ้าพูดถึงในประเทศไทย กระแสมาม่าเกาหลีนั้นเริ่มมาประมาณ 1 ปีเศษ หลังมีผู้นำเข้ารายหนึ่งนำรสชาติใหม่ๆ เข้ามาจำหน่าย และยิ่งบูมกว่าเดิมเมื่อ Tsuruha ร้านขายยาจากญี่ปุ่นที่มาเปิดสาขาในไทยนำเข้ามาจำหน่ายด้วย ทำให้ผู้บริโภคหาซื้อกันง่ายขึ้น โดยเฉพาะรสสตูไก่ที่เผ็ดร้อน จนหลายคนโพสต์ขึ้น Social Media เกี่ยวกับสินค้าตัวนี้
แต่จริงๆ แล้วรสชาติสตูไก่เผ็ดร้อน ที่คล้ายคลึงกับ Budea Jjigae หรือสตูกองทัพ ก็ช่วยสร้างความนิยมของมาม่าเกาหลีในระดับโลกเช่นกัน ยิ่งเมื่อประกอบกับการพัฒนารสชาติใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ก็ทำให้ยอดส่งออกสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของเกาหลีใต้มีมูลค่ามากกว่า 11,000 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อนที่ราว 9,400 ล้านบาท

สำหรับข้อมูลตัวเลขดังกล่าวอ้างอิงจากระทรวงเกษตร, อาหาร และกิจการชนบทของเกาหลีใต้ และบริษัทเอกชนที่ขายสินค้าตัวนี้ทั้ง Korea Agro-Fisheries กับ Food Trade Corp ส่วนมูลค่าตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในเกาหลีใต้นั้นอยู่ที่ 2.16 ล้านล้านวอน หรือราว 65,000 ล้านบาท
จีน-สหรัฐอเมริกาบริโภคสูงสุด
ด้านข้อมูล 5 ประเทศที่นำเข้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของเกาหลีใต้เรียงได้คือประเทศจีนมากที่สุด หรือ 26% รองลงมาเป็นสหรัฐอเมริกา 12%, ญี่ปุ่น 7%, ไต้หวัน 6% และออสเตรเลีย 5% โดยในสหรัฐอเมริกานั้นตัวสินค้าไม่ได้ถูกนำไปขายแค่ค้าอาหารเกาหลี เพราะมีขายในค้าปลีกชั้นนำในสหรัฐอเมริกา เช่น Walmart ด้วย
และอนาคตก็ยังสามารถเติบโตได้มากกว่านี้ เพราะในเกาหลีใต้เองที่ตลาดเติบโตได้มาจากขนาดครัวเรือนที่เล็กลง และคนเหล่านี้ก็ยอมเปลี่ยนพฤติกรรมจากรับประทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบกระป๋อง เป็นแบบซอง เพื่อได้รสชาติที่หลากหลายกว่า และทิศทางดังกล่าวก็กำลังเกิดขึ้นในระดับโลกเช่นกัน