10 แอพไฮเทค! ช่วย 'คนชรา' ดูแลสุขภาพ
- หมวด: Innovation
- เผยแพร่เมื่อ: วันจันทร์, 30 April 2561 03:16
- เขียนโดย Marketing
- ฮิต: 29
สมาร์ทโฟนกลายเป็นอุปกรณ์ติดต่อสื่อสารของคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จะเห็นผู้สูงอายุพยายามเรียนรู้เทคโนโลยี เริ่มหันมาใช้ช่องทางโซเชียลในการติดต่อสื่อสารพูดกับเพื่อนและลูกหลานมากขึ้น เพื่อไม่ให้ตกยุค แต่ขณะเดียวกันการใช้งานสมาร์ทโฟนอาจมีอุปสรรคตามสภาพร่างกายและกาลเวลา
“ฐานเศรษฐกิจ” จึงได้รวบรวมแอพพลิเคชันช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถใช้สมาร์ทโฟนได้ง่ายขึ้น ลดอุปสรรคด้านสายตา รวมถึงช่วยในการดูแลสุขภาพ
แอพพลิเคชันแรกที่ขอแนะนำ คือ BIG Launcher ทำให้สมาร์ทโฟนเหมาะสำหรับผู้สูงอายุ เด็ก และบุคคลที่มีโรคทางสายตา ปัญหาเรื่องประสาทสั่งการ หรือ ตาบอด ผู้ใช้ที่บกพร่องทางสายตาและกลัวเทคโนโลยีสามารถใช้ส่วนต่อประสานที่เรียบและง่ายต่อการอ่าน ไม่ต้องกลัวว่าจะทำความผิดพลาดและเสียทุกอย่างไป ด้วยตัวนำทางที่ไม่ทำให้กดดัน และยังมีปุ่ม SOS ที่สามารถช่วยชีวิตได้
Magnifying Glass With Light แอพช่วยขยายตัวหนังสือบนหน้าจอสมาร์ทโฟน หรือ แท็บเลต ให้ใหญ่ขึ้นได้ โดยไม่ปวดตาและไม่ว่าจะอ่านหนังสือพิมพ์ อ่านนิตยสาร หรือ เล่นเฟซบุ๊ก
See Doctor Now คือ แอพพลิเคชันระบบบริการทางการแพทย์ยุคใหม่ ที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถปรึกษาพูดคุยกับแพทย์และพยาบาลแบบเห็นหน้า ผ่าน Live Video Call จากแอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน แท็บเลต และคอมพิวเตอร์ โดยผู้เข้ามาใช้บริการจะได้พูดคุยกับพยาบาลวิชาชีพ เพื่อประเมินปัญหาของผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว และอาจให้คำปรึกษาเบื้องต้นในกรณีที่ทำได้ หากผู้ป่วยจำเป็นต้องพบแพทย์เฉพาะทาง พยาบาลก็จะทำการส่งต่อหรือทำนัดกับแพทย์เฉพาะทางในขั้นตอนการประเมินและให้คำปรึกษา โดยพยาบาลวิชาชีพเป็นการให้บริการโดยไม่มีค่าใช้จ่ายค่าบริการมีเพียงค่าแพทย์ ซึ่งจะไม่มีการเรียกเก็บเงินจนกว่าจะได้พูดคุยกับแพทย์เฉพาะทางเสร็จสิ้น
แอพแจ้งเตือนทานยา
สำหรับแอพ ‘เตือนทานยา’ เป็นแอพพลิเคชันของไทยที่ช่วยการเตือนทานยาในกลุ่มผู้สูงอายุ ไม่ให้พลาดช่วงเวลาที่ต้องทานยา และยังสามารถบันทึกยาที่ใช้เป็นประจำได้อีกด้วย ภายในแอพพลิเคชันสามารถบันทึกข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลการแพ้ยา ข้อมูลบุคคลที่สามารถติดต่อได้กรณีฉุกเฉิน สามารถบันทึกข้อมูลยาที่ต้องการแจ้งเตือน สามารถบันทึกข้อมูลได้ตามความต้องการของผู้ใช้งาน สามารถบันทึกจำนวนที่ต้องทาน ช่วงเวลาที่ต้องการแจ้งเตือน และข้อมูลการทานยาของผู้สูงอายุ นอกจากนี้ ยังสามารถบันทึกเบอร์โทรศัพท์ญาติที่สามารถติดต่อได้กรณีฉุกเฉิน และมีเบอร์โทรศัพท์หน่วยงานที่สำคัญที่สามารถติดต่อกรณีเร่งด่วนได้
ThaiEMS 1669 เป็นแอพพลิเคชันฉุกเฉินที่เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ โดยแอพนี้มีไว้เพื่อเรียกรถพยาบาลในพื้นที่ซึ่งใกล้ที่พักอาศัยให้มารับที่บ้าน เพียงกรอกข้อมูลส่วนตัว ที่อยู่และเบอร์ติดต่อเอาไว้ ซึ่งหากต้องการแจ้งเหตุก็เพียงแค่กดที่วงกลมสีแดง ที่มีข้อความว่า “กดเพื่อเรียกรถพยาบาล” และนอกจากนี้ แอพนี้ยังมีคู่มือปฐมพยาบาลเบื้องต้นไว้ใช้ยามฉุกเฉินอีกด้วย
แอพกระตุ้นสมอง
Alzheimer Disease แอพพลิเคชันที่ให้ข้อมูลความรู้และความเข้าใจต่อโรคอัลไซเมอร์ ยังให้ความสนุกสนานในการใช้งานรูปแบบเกมด้วย โดยในแอพดังกล่าวมีเล่นเกมส์ตอบคำถามแบบมีตัวเลือก มีหลายด่าน (เกาะ) เช่น 10 อาการเตือนของโรค เกาะแนวทางป้องกันโรค และเกาะการดูแลผู้ป่วย โดยแต่ละเกาะจะมีด่านภารกิจให้ผู้เล่นได้ทดสอบ นอกจากให้ความรู้แล้วยังได้กระตุ้นการทำงานของสมอง ช่วยในระบบความจำและแต่ละด่านจะสอดแทรกเกมเสริมทักษะ
‘ชราเฮโย’ เป็นแอพพลิเคชันที่จะช่วยประเมินแนวโน้มสุขภาพในอนาคต ที่เป็นผลมาจากการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าตอนนี้จะห่างไกลจากวัยสูงอายุแค่ไหน มีวิถีชีวิตแบบใด เพียงตอบคำถามจากพฤติกรรมของตัวเองแล้ว มาดูแนวโน้มกันว่า เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยสูงอายุจะมีสุขภาพที่สดชื่นสดใสห่างไกลโรคภัยแบบชราเฮโย หรือ จะสดชื่นแบบพอไหว มีโรคภัยกวนใจบ้างแบบชราโรย หรือ อาจจะไม่ค่อยสดชื่นเท่าไร เพราะมีแนวโน้มว่า โรคภัยจะมาเยือนจากการใช้ชีวิตแบบละเลยการดูแลสุขภาพ ‘ชราเฮโย’ยังมีคำแนะนำเบื้องต้นสำหรับการดูแลสุขภาพ
Pill Reminder Pro เป็นแอพพลิเคชันเตือนความจำเวลาทานยาสำหรับผู้สูงอายุ โดยหลายต่อหลายครั้ง ผู้สูงอายุมักลืมเวลากินยาของตัวเอง ด้วยเหตุนี้แอพพลิเคชัน Pill Reminder Pro จึงคิดขึ้นมาตอบโจทย์ตารางเวลาของชีวิต โดยการใช้งานเพียงกรอกชื่อ จำนวนครั้งที่รับประทานยา และเวลาที่ต้องกินยา หลังจากนั้น จะมีเสียงแจ้งเตือนการกินยา
Blood PressureiBP แอพพลิเคชันช่วยวัดระดับน้ำตาลในเลือด โดยจะทำหน้าที่คอยติดตามผลและวิเคราะห์น้ำตาลในเลือดแต่ละครั้ง ถือเป็นแอพพลิเคชันตัวหนึ่งที่ช่วยให้ผู้สูงอายุดูแลสุขภาพ และรับมือกับปัญหาสุขภาพได้ดียิ่งขึ้น
Thai-NMSQ แอพพลิเคชันเครื่องมือในการคัดกรองอาการ ที่นอกเหนือจากการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ซึ่งจะทำให้ได้ผลการรักษาที่ยั่งยืนและเหมาะสมกับผู้ป่วยมากที่สุด แอพพลิเคชัน Thai-NMSQ ออกแบบมาเพื่อเป็นแบบสอบถามอาการที่นอกเหนือจากการเคลื่อนไหว 40 ข้อ ด้วยคำถามพร้อมภาพประกอบเข้าใจง่ายแบ่งเป็น 10 หมวดหมู่ คือ ปัญหานอนหลับ-อ่อนเพลีย, ระบบไหลเวียนโลหิตและหกล้ม, ปัญหาทางอารมณ์-พฤติกรรม, ปัญหารับรู้-ประสาทหลอน, ปัญหาความจำ-สมาธิ, ปัญหาทางระบบทางเดินอาหาร, ปัญหาทางระบบทางเดินปัสสาวะ, ปัญหาทางเพศ, ปัญหาอื่น ๆ และอาการขาดความยับยั้งชั่งใจ ซึ่งอาจเป็นผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยยา แต่ละคำถามจะมีระดับความถี่ของอาการในช่วง 1 เดือน ให้ผู้ป่วยได้เลือก พร้อมสรุปผลและบันทึกเป็นภาพ เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการนำไปเป็นข้อมูลให้แพทย์วินิจฉัยต่อไป
ขอบคุณที่มา : http://www.thansettakij.com/