ผลกระทบของ Blockchain ที่ไปไกลเกินกว่าการให้บริการด้านการเงิน…โลกเปลี่ยนไปแล้ว!!!

เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วมีแนวโน้มที่กำลังจะเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจอย่างหน้ามือเป็นหลังมือในช่วงเวลาไม่ถึงทศวรรษจากนี้ไป ซึ่งมันไม่ใช่มีเพียงแต่เทคโนโลยี Social media, Big data, Cloud, Mobile หรือแม้แต่ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) อย่างที่เราได้ยินบ่อยๆ เท่านั้น แต่ยังมีเทคโนโลยีที่โดดเด่นอีกเทคโนโลยีหนึ่งที่จะมีผลกระทบต่อภาคธุรกิจต่างๆอย่างรุนแรง เทคโนโลยีนั้นคือ “Blockchain” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังสกุลเงินดิจิทัล อย่างเช่น Bitcoin นั่นเอง

แม้ว่าเทคโนโลยี Blockchain จะมีความซับซ้อนทางเทคนิค แต่เป็นแนวคิดที่ประยุกต์ใช้ได้ง่าย โดย Blockchain คือการทำธุรกรรมแบบกระจายศูนย์ หรือกระบวนการจัดการฐานข้อมูล บนอุปกรณ์นับล้านๆเครื่อง เป็นระบบที่เปิดกว้างสำหรับทุกคน ที่ไม่ได้เป็นเพียงข้อมูล แต่เป็นสิ่งที่มีมูลค่า เช่น ตัวเงิน สัญญาข้อตกลง หนังสือ ดนตรี ศิลปะ การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ ทรัพย์สินทางปัญญา และการลงคะแนนเสียง ที่สามารถเคลื่อนย้ายและจัดเก็บได้อย่างปลอดภัย และมีสิทธิเฉพาะตัว

Blockchain มีความน่าเชื่อถือ ไม่ต้องอาศัยตัวกลาง อย่างเช่นธนาคาร หน่วยงานรัฐ และบริษัทเทคโนโลยี แต่มันอาศัยการทำงานร่วมกันของเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวนมากที่เชื่อมต่อเป็นเครือข่าย ที่มีการประมวลผลที่ชาญฉลาด โดย Blockchain จะมีการตรวจสอบความถูกต้อง และความน่าเชื่อกันเอง ซึ่งจะทำให้ยากที่จะเกิดการฉ้อโกงได้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า Blockchain เป็นเหมือนสื่อดิจิทัลสำหรับการจัดการทรัพย์สิน เช่นเดียวกับอินเทอร์เน็ตที่เป็นสื่อดิจิทัลสำหรับการจัดการข้อมูลข่าวสาร ซึ่งสิ่งนี้เองที่มีความหมายสำหรับธุรกิจและบริษัทอย่างมาก

Blockchain มุ่งเน้นศักยภาพเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานของอุตสาหกรรมด้านการเงิน โดยการลดค่าใช้จ่ายและความซับซ้อนของการดำเนินการในการทำธุรกรรม ทำให้ผู้ที่ไม่มีบัญชีธนาคารสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ และพัฒนาปรับปรุงให้เกิดความโปร่งใส ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบอย่างมากต่อภาคธุรกิจธนาคารและการเงิน อยางไรก็ตาม จากผลงานวิจัยต่างๆที่เกี่ยวข้องทำให้เห็นเด่นชัดว่า Blockchain สามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบของธุรกิจ รัฐบาล และสังคม ได้ อย่างชนิดที่เรียกว่าพลิกโฉมหน้ากันเลยก็ว่าได้

การเข้ามาของเทคโนโลยีเว็บในช่วงแรกๆ ผู้บริหารทั้งหลาย ได้แสดงให้เห็นว่าบริษัทที่นำอินเทอร์เน็ตเข้ามาใช้ในองค์กร จะสามารถลดต้นทุนการดำเนินการทั้งภายในและภายนอกองค์กรได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้นทุนในการค้นหาข้อมูล การประสานงาน และการติดต่อสื่อสาร อย่างไรก็ตาม อินเทอร์เน็ตมีเพียงผลกระทบกับโครงสร้างองค์กร และทำให้สามารถลดต้นทุนการดำเนินการของธุรกิจได้จำนวนมากมายมหาศาลอย่างเด่นชัด

เมื่ออินเทอร์เน็ตยุคที่สองเข้ามา จะมีการมุ่งเน้นไปยังมูลค่าที่จะสร้างขึ้นใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อย่างเช่น ได้ทำให้ Blockchain เกิดขึ้นมาเป็นนวัตกรรมหลักและอาจจะทำให้การลดต้นทุนให้แก่องค์กรเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น การค้นหาข้อมูลจากฐานข้อมูลทั่วโลกที่สามารถลดค่าใช้จ่ายในการค้นหาลงได้อย่างมาก และที่สำคัญยิ่ง คือการทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ในการทำสัญญาอันชาญฉลาด หรือ Smart contracts บน Blockchain โดยสามารถทำให้ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการทำธุรกรรมสัญญา การบังคับใช้สัญญา และการชำระเงิน ลดลงได้อย่างชัดเจน และยังทำให้ระดับความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือปรากฎขึ้นอย่างชัดเจนอีกด้วย

ในธุรกิจบันเทิง Smart contracts จะช่วยให้ศิลปินเพลงสามารถขายเพลงให้กับผู้บริโภคได้โดยตรงโดยไม่ต้องผ่านค่ายเพลง และไม่ต้องผ่านสถาบันการเงิน ซึ่งหมายความว่าค่าลิขสิทธิ์เพลง และข้อตกลงต่างๆ จะสามารถดำเนินการได้โดยอัตโนมัติ ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบกับตัวกลางอย่างเช่น บริษัท Spotify, Apple, Sony Music และบริษัทสื่อขนาดใหญ่ ดังนั้นถ้าบริษัทตัวกลางเหล่านี้ ต้องการที่จะยืนหยัดอยู่ได้ ก็ต้องหาวิธีการรับมือกับเทคโนโลยี Blockchain อย่างชาญฉลาดนั่นเอง

เทคโนโลยี Blockchain ยังสามารถยกระดับรูปแบบธุรกิจที่เป็นเครือข่าย โดยการพัฒนาแอพพลิเคชั่น อย่างเช่น ระบบการชำระเงินโดยไม่ต้องอาศัยธนาคาร บริษัทบัตรเครดิต และตัวกลางอื่นๆ ซึ่งสามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่าย และเวลาในการทำธุรกรรมได้

ในยุคอินเทอร์เน็ตยุคใหม่ Trustless transactions จะเป็นการทำธุรกรรมระหว่างสองคน หรือมากกว่านั้น ผลักดันให้เกิดการบริการจัดการด้านความปลอดภัยและการบริหารจัดการตัวตน (Identity Management) การบริการจัดการข้อมูลต่างๆ ของลูกค้า รวมถึงกระบวนการทำงานต่างๆ จะนำมาซึ่งผลประโยชน์เชิงกลยุทธ์ในระยะยาวอย่างแท้จริง
รวมไปถึงการแก้ปัญหาที่เกิดจากทรัพย์สินทางปัญญาในยุคดิจิทัล

ในช่วงอินเทอร์เน็ตยุคแรก เจ้าของทรัพย์สินทางปัญญายังไม่ได้รับค่าตอบแทนอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม เช่น นักดนตรี นักเขียนบทละคร นักข่าว ช่างภาพ ศิลปิน นักออกแบบแฟชั่น นักวิทยาศาสตร์ สถาปนิก และวิศวกร ซึ่งในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปแล้ว โดยบรรดานักประดิษฐ์หรือเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาเหล่านี้ ล้วนมีวิธีการจัดการกับการละเมิดลิขสิทธิ์ดิจิทัลได้ดียิ่งขึ้นจากการเข้ารหัสและการตรวจสอบความเป็นเจ้าของสิทธิบนโครงข่าย Blockchain นั่นเอง

เทคโนโลยี Blockchain เป็นแพลตฟอร์มใหม่สำหรับเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา ทำให้เจ้าของผลงานได้รับค่าตอบแทนจากงานที่พวกเขาสร้างขึ้นอย่างเป็นธรรม ซึ่งหากนำ Blockchain มาใช้ในกระบวนการนี้ ก็จะช่วยให้ศิลปินสามารถอัพโหลดงานศิลปะของตัวเองบนระบบดิจิทัลและมีการโอนเงิน bitcoin เมื่อมีการซื้อ หรือเปลี่ยนเจ้าของจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง ทำให้เทคโนโลยี Blockchain สามารถเข้ามาแก้ปัญหาทรัพย์สินทางปัญญาได้อย่างเหลือเชื่ออย่างที่ไม่เคยทำได้มาก่อน

การสร้างเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing economy) เป็นที่พูดกันมากในปัจจุบัน โดยเทคโนโลยี Blockchain สามารถทำให้ผู้ให้บริการภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบ่งปัน สามารถทำงานร่วมกันได้ ทำให้เกิดมูลค่าต่อระบบเศรษฐกิจ ซึ่ง Trust protocol ของ Blockchain ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างกันภายในระบบ โดยการสร้างการควบคุมโดยกลุ่มคนหรือกลุ่มองค์กรที่มีความต้องการเหมือนๆกัน (ต้องการทำธุรกรรมและธุรกิจร่วมกัน) เพราะจะทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถตกลงกันได้ง่ายขึ้นในตลาดแบบเปิดกว้าง ด้วยความโปร่งใส ไว้ใจกัน และปราศจากตัวกลาง

จากนี้ไป Internet of Things จะเข้ามามีบทบาทในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล อีกทั้งจะมีการนำเอา Blockchain เข้ามาช่วยในการจัดการการทำธุรกรรมในชีวิตประจำวันนับล้านๆรายการ ซึ่งการให้บริการด้านการเงินในอดีตไม่สามารถจัดการกับระบบการชําระเงินแบบ Micropayment ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งต้องทำการแยกย่อยการชำระเงินออกมาเป็นรายการต่อชิ้นหรือต่อครั้ง (Pay-per-article หรือ Pay-per-view) แทนที่จะต้องจ่ายทั้งหมดเป็นก้อนใหญ่ และสามารถตรวจสอบยอดชำระเงินแบบ Realtime ได้อีกด้วย

ทุกวันนี้ การทำงานร่วมกันบนเครือข่าย จะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะของการทำงานและการจัดการองค์ความรู้ภายในองค์กร แต่ด้วยข้อจำกัดของเครื่องมือต่างๆ ที่เรายังคงต้องอาศัยศูนย์กลาง (ตัวกลาง) ในการสร้างความน่าเชื่อถือ ความไว้วางใจและความสามารถในการประสานงาน ซึ่งหากนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ จะทำให้เกิดโอกาสมากขึ้นในการบริหารจัดการผลประโยชน์โดยเจ้าของสินค้าหรือเจ้าของทรัพย์สินสามารถจัดสรรผลประโยชน์ได้ด้วยตนเอง

จากนี้ไปผู้นำในอุตสาหกรรมทุกอุตสาหกรรมจะพบกับความท้าทายในการตัดสินใจครั้งใหญ่ เกี่ยวกับอนาคตขององค์กร ที่ต้องแข่งขันกับองค์กรขนาดเล็กที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ ซึ่งกำลังยึดพื้นที่ market share อย่างรวดเร็ว และจะทำให้องค์กรดั้งเดิมมีปัญหาและอุปสรรคในการดำรงอยู่ในตลาด อีกทั้งจะทำให้ความได้เปรียบในการแข่งขันของธุรกิจดั้งเดิมลดลง ดังนั้นธุรกิจดั้งเดิมเหล่านี้จะต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว หรือมีความเสี่ยงสูงที่จะต้องออกจากธุรกิจไป